วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โรคกระดูกพรุนคุณผู้หญิง ป้องกันได้

ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจกับโรคกระดูกพรุนกันก่อน ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ทำให้กระดูกเปราะ แตกหักง่าย ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสะโพก หลัง แขน คอ หรือข้อมือ จากสถิติทางการแพทย์ล่าสุดเผยให้เห็นว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของหญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว หรือที่เรียกกันติดปากว่า ผู้หญิงวัยทอง และผู้หญิงที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปได้รับผลกระทบจากโรคกระดูกพรุน นอกจากนั้นร้อยละ 80-90 ของผู้หญิงกลุ่มนี้ ยังไม่ทราบว่าตนเป็นโรคนี้จึงไม่มีการป้องกันรักษาอย่าง ถูกวิธี

โรคกระดูกพรุน ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดทรมานเนื่องจากกระดูกหักเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการ ทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่าที่ควร สร้างผลกระทบทั้งในด้านบุคลิกภาพ ด้านสังคม และสภาพจิตใจ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย โดย รศ.นพ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาวิจัยในเรื่อง ปัจจัยเสี่ยงและทางเลือกในการรักษาโรคกระดูกพรุน และพบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสะโพกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุน จากร้อยละ 2.1 ในระยะแรก เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9 ในเดือนที่ 3 ร้อยละ 12 ในเดือนที่ 6 และร้อยละ 17 ในเดือนที่ 12 ตามลำดับ

ทั้งนี้เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวข้างต้น นายแพทย์ฉัตรเลิศกล่าวว่า ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคกระดูกพรุนอยู่ที่ประมาณ 36,500 บาท/1คน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษากระดูกหัก เนื่องจากโรคกระดูกพรุนสูงถึง 116,500 บาท/1คน แต่ผู้หญิงวัยทองส่วนใหญ่ ก็มักไม่เข้ารับการรักษาและวินิจฉัยเสียแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้ต้องเสี่ยงต่อการกระดูกแตกหักได้ง่าย


โรคกระดูกพรุนคุณผู้หญิง ป้องกันได้

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

การป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดี คือ การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กุ้งแห้ง ถั่วแดง ผักคะน้า ฯลฯ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และงดยาประเภท เช่น เสตียรอยด์ ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็คือ การได้รับฮอร์โมนทดแทน คือ การยังคงมีประจำเดือน แม้ว่าตามปกติจะหมดประจำเดือนไปแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี เมื่อใช้ฮอร์โมนนี้ไปนานๆ ประจำเดือนก็จะหยุดไปเอง นอกจากนี้ หากใช้ฮอร์โมนทดแทนในขนาดที่ไม่เหมาะสม อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ซึมเศร้า ร้อนวูบวาบ หรือ ปวดบริเวณเชิงกราน ดังนั้นใครควรใช้ฮอร์โมนแบบไหน ขนาดเท่าไร และใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสมกับตัวเองนั้น ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

ดังนั้น หญิงในวัยหมดประจำเดือน จึงควรต้องเรียนรู้วิธีป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน หรือ การบ่งชี้ภาวะของโรคตั้งแต่เริ่มต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปัญหา ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนจะต้องให้ความรู้ถึง การป้องการรักษาและการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เพื่อให้ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุน สตรีในวัยนี้ควร พบแพทย์เพื่อตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกอย่างสม่ำเสมอ อาหารประเภทแคลเซี่ยมสูงเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนั้นยังควรได้รับ ไวตามินดีจากแสงแดดและอาหารประเภทไขมันและน้ำมันปลา ด้วย ซึ่งแพทย์อาจให้รับประทานแคลเซี่ยมเพิ่ม หรือแนะนำวิธีการออกกำลังกายและการปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อไป

ไม่ควรกลัวโรคกระดูกพรุน

จากผลการศึกษาของนายแพทย์ฉัตรเลิศ พบว่าในจำนวนผู้ป่วยที่กระดูกช่วงสะโพกหัก 100 คน มีผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่เคยได้รับการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก แสดงให้เห็นว่าหญิงในวัยหมดประจำเดือนส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้หรือยังละเลย ไม่ให้ความสำคัญของการรักษาโรคกระดูกพรุนเท่าที่ควร ดังนั้น จึงควรมีการรณรงค์ให้ความรู้ให้มากขึ้น เพื่อการป้องกันโรคก่อนที่จะสายเกินไป

ผู้หญิงเมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจหลายอย่าง อาทิ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มาผิดปกติ หงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบตามตัว หรือที่เรียกว่าเข้าสู่วัยทอง ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผู้หญิงในวัยนี้ มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุน โดยผู้หญิงจะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เพราะเมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง ระดับฮอร์โมนเพศหญิง จะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัตราการสลายตัวของกระดูกเร็วขึ้นอีก ในขณะที่ผู้ชายไม่มีช่วงที่ฮอร์โมนเพศลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้กระดูกพรุนช้ากว่า

การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน

ผู้ป่วยควรได้รับแคลเซียม 1200 – 1500 มิลลิกรัม ต่อวัน โดยเลือกทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม (นม 1 แก้ว จะให้แคลเซียมประมาณ 300 มิลลิกรัม) หรือทานแคลเซียมเม็ดเสริม

การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเบา, ยกน้ำหนัก สามารถทำให้ความหนาแน่นของกระดูกมากขึ้น ได้โดยผู้ที่สามารถยกน้ำหนักได้ควร เริ่มต้นยกน้ำหนักเบาก่อนจนกระทั่งมวลกระดูกมีความหนาแน่นมากพอ

การรักษาโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และป้องกันการหกล้มในผู้ที่มีกระดูกบาง รวมทั้งให้ยาเพื่อเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก

การที่จะเลือกใช้ยาชนิดใดนั้นควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรค ความรุนแรงของโรค และผลดีผลเสียของการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย ๆ ไป ยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ได้แก่

1. ยาเม็ดแคลเซียม การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมควรปรึกษาแพทย์ก่อน ในคนปกติ การได้รับแคลเซียมในปริมาณมากมักไม่มีปัญหา เนื่องจากแคลเซียมส่วนเกินจะถูกขับถ่ายออกมาในปัสสาวะและในอุจจาระ แต่ในผู้ป่วยที่มีโรคบางอย่าง เช่น โรคตับ โรคไต หรือโรคนิ่วในไต การรับประทานแคลเซียมในปริมาณมากอาจเกิดผลเสียได้

2. วิตามินดี ในร่างกายส่วนใหญ่มาจากการสังเคราะห์ขึ้นเองจากผิวหนัง เมื่อได้รับแสงแดด แต่ในผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วย นอนอยู่ในบ้านที่มีแสงสว่างน้อย หรือเป็นโรคของลำไส้ อาจเกิดภาวะพร่องวิตามินดีได้ ในกรณีการให้วิตามินดีเสริมอาจมีความจำเป็น การรับประทานวิตามินดีควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์ เนื่องจากการรับประทานที่มากเกินไปอาจเกิดโทษได้

3. ฮอร์โมนเอสโตรเจน เหมาะสมกับสตรีในวัยหมดประจำเดือน หรือสตรีที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ก่อนจะถึงวัยหมดประจำเดือน ควรอยู่ภายใต้การควบคุม ดูแลของแพทย์ และควรตรวจเช็คมะเร็งเต้านมและตรวจภายในเป็นประจำทุกปี

4. คาลซิโตนิน เป็นฮอร์โมนที่สามารถยับยั้งการสลายตัวของกระดูก แต่มีราคาแพง

5.บิสฟอสฟอเนต มีฤทธิ์ในการยับยั้ง การสลายตัวของกระดูก แต่อาจเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

6. ฮอร์โมนเพศชาย มีประโยชน์ในชายสูงอายุที่เกิดกระดูกพรุนจากภาวะขาดฮอร์โมนเพศ

7. ฟลูออไรด์ สามารถเพิ่มเนื้อเยื่อกระดูกได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยในขนาดที่เหมาะสม

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ป้องกันได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ การบริโภคอาหารที่ถูกต้องมีคุณค่าการบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ การรักษาที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตั้งแต่เริ่มเป็นการเลือกใช้ยาชนิดใดควร อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเลือกใช้กับผู้ป่วยเฉพาะราย ๆ ไป

Credit : http://beauty.vwander.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น