วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อันตรายจากเลเซอร์

เกิดมาในยุคที่ความสวยความงามถูกกำหนดด้วยฝีมือแพทย์และอุปกรณ์ไฮเทคอย่าง การยิงเลเซอร์และการศัลยกรรมด้วยกรรมวิธีต่างๆ ศาตร์แห่งความงาม คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคลินิกที่เปิดให้บริการที่เกิดขึ้น ผุดขึ้นมาในปัจจุบันราวกับดอกเห็ดในฤดูผล จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมจริงๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยกำลังวิตกกังวลอยู่ในขณะ นี้ กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่ควบคุมเครื่องมือต่างๆ นั้น มีทักษะความรู้ความสามารถมากน้อยเพียงใด

หมอศัลยกรรมความงาม หรือ ตจแพทย์ หมายถึง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง แม้ว่าเมืองไทยจะมีคลินิกเสริมความงามโชว์ป้ายโฆษณาชักชวนให้ทำเลเซอร์ ที่มีแทบทุกหัวถนน แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าเครื่องเลเซอร์ มีการพัฒนาไปหลากหลายรูปแบบ ทั้งให้ผลดีและผลข้างเคียง ซึ่งสิ่งสำคัญและปัญหาที่เกิดตามมาก็คือ เครื่องเลเซอร์ไฮเทคมากขึ้น แต่แพทย์ผู้ใช้ไม่ได้ไฮเทคตามเครื่องมือไปด้วย

ล่าสุดนี้สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้แถลงให้ความรู้ในหัวข้อ เทคโนโลยีความงาม จะสวยหรือซวยกันแน่ โดย นพ.อุดมศักดิ์ วงศ์ปารมี ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ให้ความรู้ว่า ในอดีตหมอจะใช้เครื่องอินฟราเรดมาช่วนรักษาผิวพรรณให้คนไข้ แต่ไม่นานก็พบว่าเกิดผลข้างเคียงทำให้ผิวถลอกและมีการติดเชื้อ

ต่อมามีการพัฒนามาเป็นแสงเลเซอร์ คลื่นวิทยุ เครื่องนำสารเข้าผิว ฯลฯ แต่เครื่องมือที่นิยมใช้ทั่วโลกก็คือเครื่องเลเซอร์ที่ถูกพัฒนาให้มี ประสิทธิภาพเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันออกไป ซึ่งเครื่องเลเซอร์นี้ แต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน บางคลินิกมีเครื่องเลเซอร์เก่าๆ แค่อันเดียวแล้วใช้ทำทุกอย่าง ทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรือใช้เครื่องมือผิดประเภทจนคนไข้เกิดอาการผิวบวมแดง มีแผลเป็น หรือผลข้างเคียงอื่นๆ

โดยทั่วไปประสิทธิภาพเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันของเครื่องเลเซอร์นั้น เช่น เลเซอร์รักษาความผิดปกติของสีผิว เลเซอร์รักษาหลอดเลือด เลเซอร์กำจัดขน ที่สำคัญกว่านั้นคือผู้ใช้เครื่องเลเซอร์เหล่านี้ต้องผ่านการฝึกอบรมเฉพาะ ด้าน ซึ่งคลินิกหลายแห่งสั่งเฉพาะเครื่องมา แต่ไม่ได้ส่งให้แพทย์ไปฝึกวิธีการใช้เครื่อง รวมถึงไม่ได้ให้ความรู้เรื่องเลเซอร์แก่ลูกค้าอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความผิดพลาด แทนที่จะสวยเต่งตึงขึ้นกลายเป็นผิวเหี่ยวย่นหรือได้หน้าสีแดงปุปะแย่ยิ่ง กว่าเดิม

นอกจากปัญหาเครื่องมือไม่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่ต้องระวังคือแพทย์ที่ใช้เครื่องเลเซอร์เสริมความงามต้องเป็นตจแพทย์ หรือผู้ที่ศึกษาเรื่องผิวหนังมาโดยเฉพาะ และผ่านการอบรมวิธีใช้เครื่องเลเซอร์แต่ละชนิดมาเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นต่อให้มีเครื่องมือดีขนาดไหน ถ้าหมอไม่เก่งก็เกิดความผิดพลาดได้มากเช่นกัน เคยเกิดกรณีระบบไฟฟ้าในคลินิกผิดปกติ เครื่องเลเซอร์ที่หมอคนหนึ่งใช้มีแสงขนาดเข้มข้นไป ทำให้คนไข้หน้าบวมแดง กลายเป็นแผลเป็น ถ้าเจอหมอเชี่ยวชาญก็จะมีอุปกรณ์แก้ไขเตรียมไว้ในคลินิก แต่ถ้าโชคร้ายเจอหมอไม่รู้เรื่องก็อันตรายได้

หากอยากรู้ว่าคลินิกเสริมความงามใช้หมอผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ ให้ไปยืนอ่านใบวุฒิบัตรที่ติดไว้ข้างผนัง ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อคอร์สต่างๆ โดยทั่วไปจะพิจารณาคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ 1.ต้องเรียนจบคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองใช้เวลาประมาณ 6 ปี 2.เมื่อจบคณะแพทยศาสตร์แล้วต้องเคยไปเรียนต่อด้านผิวหนังโดยตรง ตามหลักสูตรของแพทยสภา ใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี เพื่อให้ได้วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง หรือ ตจแพทย์ (Dermatologist) เนื่องจากจะทำให้รู้เรื่องพยาธิสภาพของผิวหนัง และวินิจฉัยอาการของโรคได้ถูกต้อง ที่สำคัญคือเมื่อเครื่องมือเกิดผิดพลาดจะรู้วิธีการแก้ไข้อย่างถูกวิธี 3.เป็นแพทย์ที่เคยผ่านการฝึกอบรมด้านเลเซอร์มาเฉพาะ (Laser Surgery) จะทำให้เป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดกับคนไข้ได้รอบด้าน

อันตรายจากเลเซอร์

เลเซอร์รักษาความผิดปกติของเส้นเลือด รักษาเส้นเลือดใต้ผิวหนัง เช่น ปานแดง เส้นเลือดขอด ฯลฯ นิยมเรียกว่า พีดีแอล (Pulsed-Dye Laser : PDL) แสงเลเซอร์จะทำให้เส้นเลือดร้อนจัด และถูกทำลายไปอย่างถาวร บางครั้งก็นำมารักษาแผลเป็นบางชนิด เช่น หน้าท้องลาย น่องลาย หูด ฯลฯ สุดท้ายคือ "เลเซอร์รักษาความผิดปกติของสีผิว" ใช้รักษาปานดำ รอยคล้ำดำ ลบรอยสัก ฯลฯ

แม้เลเซอร์จะเป็นเทคโนโลยีช่วยเสริมความงามของผิวพรรณได้ แต่อย่าลืมว่าไซด์เอฟเฟกท์ หรือผลข้างเคียงอันตรายจากเลเซอร์ก็มีเช่นกัน เพราะการทำงานของเลเซอร์คือทำให้เกิดคลื่นความร้อนไปทิ่มแทงผิวหนัง จึงเกิดการอักเสบได้ง่าย หลายคนอาจมีรอยดำหรือรอยแดง บางคนโชคดีเป็นเพียงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนก็หายไป แต่บางคนกลายเป็นรอยด่างหรือรอยดำถาวร หรือเป็นแผลเป็นตลอดไป

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยอมรับว่า การดูแลเครื่องมือเลเซอร์เหล่านี้ทำได้ยาก เพราะปัจจุบันเครื่องมือมีความไฮเทคและมีขนาดเล็กลงมาก สามารถหิ้วจากต่างประเทศผ่านสนามบินเข้าไทยได้เลย เหมือนเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องยากที่ด่านศุลกากรหรือด่าน อย.จะสังเกตพบความผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม อย.พยายามสุ่มตรวจตามคลินิกเสริมความงามว่าใช้เครื่องมือที่ผ่านการรับรอง หรือไม่ และผู้ใช้ผ่านการอบรมมาเหรือเปล่า แต่สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำคือ ก่อนเข้ารับการรักษาควรศึกษาให้ดีก่อนว่าคลินิกที่จะเข้าไปใช้บริการมี เครื่องมือหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ อย่าเชื่อตามคำโฆษณากล่าวอ้าง

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา / blog oknation.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น