วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปวดประจำเดือน ความผิดปกติของประจำเดือน

รอบ รู้เรื่องประจำเดือนและอาการของประจำเดือนที่ผิดปกติ โดย พญ. ฐิติมา สุนทรสัจ เธอกล่าวว่า ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหากับประจำเดือนอย่างน้อยๆ ก็มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว อาการไม่สบายตัว แต่ก่อนที่จะคิดว่าการมีรอบเดือนนั้นผิดปกติหรือไม่ ควรทำความเข้าใจกับรอบเดือนปกติก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร


ประจำเดือนปกติ หรือรอบเดือนปกติ

ผูหญิงกับประจำเดือนมักเป็นของคู่กัน ประจำเดือนของผู้หญิงนั้นก็คือ การที่เลือดออกจากโพรงมดลูกเป็นรอบๆ ห่างกันทุก 28 วัน ผิดพลาดได้ไม่เกินบวก/ลบ 7 วัน นั้นหมายความว่า บางเดือนหรือบางคน รอบประจำเดือนอาจจะเป็น 21 วัน 22 วัน หรือ 30 วัน 35 วันก็ได้ ลักษณะแบบนี้ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระยะเวลาที่มีเลือดออกประมาณ 2-7 วัน โดยปริมาณเลือดที่ไหลออกมาทั้งหมดราวๆ 20-60 ซีซี ต่อรอบ

เด็กสาวที่เริ่มมีประจำเดือนใหม่ๆ ในช่วง 1-2 ปีแรก จะมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ รอบมักจะยาว บางคน 2-3 เดือนจึงจะมาสักครั้ง เนื่องจากการทำงานของรังไขยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนจึงมาห่างๆ และมักจะมามากนานหลายวัน หลังจากนั้นเมื่อเข้าที่เข้าทาง ก็จะมีรอบเดือนสม่ำเสมอมากขึ้นเพราะมีการตกไข่ทุกเดือน

ปัจจัยที่ทำให้มีประจำเดือนเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม เชื้อชาติ สิ่งแวดล้อม แสงสว่าง ความอ้วน ผอมของร่างกาย สุขภาพทั่วไป สภาวะทางจิตใจ และเชื่อหรือไม่ คนที่อาศัยอยู่ในเมือง หรือประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร พื้นที่ระดับน้ำทะเล เช่น กรุงเทพมหานคร จะมีประจำเดือนเร็วกว่าพวกที่อยู่ในชนบทไกลจากเส้นศูนย์สูตร หรืออยู่บนยอดเขา เช่น ธิเบต เป็นต้น ที่น่าแปลกก็คือมีการศึกษาพบว่า เด็กที่ตาบอดกลับมีประจำเดือนเร็วกว่าเด็กปกติ แสดงว่าแสงสว่างน่าจะมีผลต่อการมีประจำเดือนด้วย

ปวดประจำเดือน

สาเหตุของการมีประจำเดือนผิดปกติ

ความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมน เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ของการมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือประจำเดือนออกมาก มักเกิดจากการตกไข่ไม่สม่ำเสมอ เรียกว่าภาวะประจำเดือนออกผิดปกติ (Dysfunctional uterine bleeding หรือ DUB)

สาเหตุของภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล

- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น หรือวัยใกล้หมดประจำเดือน
- โรคเบาหวาน, ความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ ;หรือต่อมใต้สมอง(Pituitary) หรือความผิดปกติอื่นๆ
- อ้วนมากเกินไป
- ภาวะเครียด
- การออกกำลังกายหนักเกินไป
- ความผิดปกติของการทานอาหารบางอย่าง เช่น โรคเบื่ออาหาร (Anorexia nerversa)

เนื้องอกของมดลูก ส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกประเภทนี้มักเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา ไม่ค่อยมีเนื้อร้ายซึ่งนอกจากทำให้มีเลือดออกผิดปกติแล้ว ยังอาจทำให้รู้สึกปวดหรือถ่วงในท้องน้อยได้ด้วย

ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน

ปัญหาความคลาดเคลื่อนของประจำเดือน หลายคนสงสัยว่าทำไมประจำเดือนจึงมาไม่สม่ำเสมอ และมักทำให้เกิดความวิตกกังวลไปต่างๆ นาๆ สาเหตุหลักๆ มักมาจากความเครียด ทำงานหนัก นอนน้อย หรืออาจจะเกิดจากการลดน้ำหนักจนขาดสารอาหาร ซึ่งทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องการเจริญพันธ์ผิดเพี้ยนได้ แม้จะไม่อันตรายนัก แต่หากประจำเดือนขาดหายไปนาน และมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาจเกิดจากการไม่มีไข่ตก เนื่องจากความไม่สมดุลทางฮอร์โมนก็เป็นได้

ปัญหาเลือดออกกระปริบกระปรอย ส่วนใหญ่มักเกิดจาก การใช้ยาคุมกำเนิด โดยเฉพาะในคนที่ใช้ยาคุมครั้งแรก อาจมีอาการเลือดออกกระปริบกระปรอยได้ แต่อาการดังกล่าว มักจะหายไปเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด ได้ ซึ่งมักจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ถ้ายังอาการอยู่นานกว่า 4 เดือนก็ควรจะไปพบแพทย์ค่ะ เพราะอาการเลือดออกกระปริบกระปรอย อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปากมดลูกก็เป็นได้ แต่โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้โดยวิธี Pap Smear นอกจากนี้โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น โรคหนองใน ก็อาจมีอาการเลือดออกกระปริบกระปรอยได้เช่นกัน

ประจำเดือนมามากกว่าเดือนละครั้ง ซึ่งผู้หญิงบางคนอาจมีประจำเดือนมาเดือนละ 2 ครั้ง เป็นไปได้ สาเหตุมาจากความหงุดหงิด การงานที่รัดตัว ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้ฮอร์โมนของร่างกายปั่นป่วน ทำให้มีเลือดออกในช่วงกลางรอบเดือน หรือช่วงที่ไข่ตก แต่ในบางรายก็อาจเกิดจากปัญหาเยื่อบุมดลูกอยู่ผิดที่ ซึ่งมักจะมีอาการปวดบริเวณเชิงกรานและหลังร่วมด้วย ซึ่งควรแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

ประจำเดือนมามากและนานหลายวัน โดยปกติแล้ว ผู้หญิงเราจะมีประจำเดือนนาน 7 วัน โดย 2 วันแรกจะมีปริมาณค่อนข้างมาก แต่ถ้ามีประจำเดือนนานกว่า 8 วันและยังมีปริมาณมาก แม้จะเลย 2 วันแรกไปแล้ว ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เพราะอาจเกิดจากเนื้องอกในบริเวณมดลูก ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัด

ประจำเดือนมาน้อยมาก ถ้าประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แม้จะมีน้อย ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะแสดงว่าร่างกายมีการตกไข่ตามปกติ แต่ที่มีปริมาณน้อยนั้น มักพบในคนที่ใช้ยาคุมกำเนิด หรือผู้หญิงที่มีอายุมาก แต่หากมีปริมาณน้อยจนผิดปกติ โดยที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด ก็อาจเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้เช่นกัน

ออกกำลังกายขณะมีประจำเดือน

ประจำเดือนนั้นเกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก และจะมีอาการมดลูกบีบตัวรุนแรง จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ ในขณะที่ การออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนเดอร์ฟิน ซึ่งทำให้รู้สึกผ่อนคลายหายเครียด และช่วยแก้ปวดได้ทุกชนิด เรียกว่ามีสรรพคุณเทียบเท่ายาแก้ปวดขนานเอกกันทีเดียว จึงดูไม่มีเหตุผล ที่จะเป็นข้อห้าม ไม่ให้ยืดเส้นยืดสายในช่วงวันนั้นของเดือนแต่อย่างใด การออกกำลังการสำหรับผู้มีประจำเดือน

วิธีลดปวดประจำเดือน

วิธีลดอาการปวดของประจำเดือนโดย ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุภระฤกษ์ ได้ระบุว่า การมีประจำเดือน เป็นเครื่องหมายของสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือ ตั้งแต่อายุได้ ประมาณ 12 ปี จนถึงอายุ เฉลี่ยประมาณ 55 ปี โดยการทำงานของฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ที่มีหน้าที่ในการควบคุมกระบวนการสร้างไข่ ตกไข่ ตลอดจนการนำไปสู่ การปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย และการฟักตัวเป็นมนุษย์ในที่สุด

ประจำเดือนที่มาตามปกตินั้น จะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายดำเนินไปตามปกติ เพราะไข่ที่ไม่ได้รับการผสม จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ฝังตัว ของไข่ ถูกขับออกมา เป็นการถ่ายเทของเก่าเพื่อสร้างของใหม่ ทำให้ไม่มีของเสียคั่งค้าง ภายใน จึงนับว่าเป็นผลดีของการมีประจำเดือน

อย่างไรก็ตาม คุณผู้หญิงจำนวนมาก ก็ยังรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่อยากให้ช่วงเวลานั้ ของเดือน มาถึงเร็วนัก เพราะกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น ต้องงดการว่ายน้ำหรือการกระโดดโลดเต้น อีกทั้งยังต้องคอยระมัดระวัง และกังวล กับรอยซึมเปื้อน ทำให้ความั่นใจลดลง รวมไปถึงความไม่สบายกายอีกมากมาย เช่น อาการวิงเวียน คลื่นไว้ ท้องอืด เบื่ออาหาร หงุดหงิด มีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ อันเนื่องมาจากระดับฮอร์โมนเพศลดลงจากระดับปกติ ที่สำคัญคุณผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ยังต้องประสบกับปัญหาปวดท้องในขณะมีประจำเดือน ซึ่งสร้างความทรมาน ทั้งทางร่างกาย และอารมณ์ จนบางครั้งอาจส่งผลต่อการทำงานปกติ หรือการดำเนินชีวิตประจำวันได้

ความจริงแล้ว อาการปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการมีประจำเดือนแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ใด ๆ เพียงแต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงบางคน ที่มดลูกมีการบีบรัดตัว อย่างรุนแรง เท่านั้น จึงไม่มีอะไรที่น่าวิตกกังวล เว้นเสียแต่ว่าจะมีการปวดถ่วงอย่างรุนแรง บริเวณท้องน้อย ซึ่งหากปวดมาก ๆ จนไม่เป็นอันกินอันนอนควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เพราะการปล่อยให้อาการปวดประจำเดือนรุมเร้า ทุกครั้งที่มีประจำเดือน โดยไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธีนั้น อาจส่งผลเสียต่อ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตอย่างมากได้

การับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งวิธีที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งก็ใช้ได้ผล แต่การสะสมของยาแก้ปวดในร่างกาย อาจส่งผลต่อกระบวนการ การทำงานของตับ และยังอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้ ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ และเหมาะสม ไม่หักโหมจนเกิดอาการเจ็บป่วย เช่น การวิ่งอยู่กับที่ การออกกายบริหาร แบบเต้นแอโรบิก การเดินวันละ 10-20 นาที นอกจากจะช่วยให้ระบบการทำงาน ของร่างกายโดยรวม เป็นไปด้วยดีแล้ว ที่สำคัญช่วยให้ร่างกายสามารถทนกับ ความเจ็บปวดได้มากขึ้น

การบำรุงร่างกายด้วยอาหาร และสมุนไพรจีนอย่าง "ตังกุย" ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของผู้หญิงยุคนี้ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วว่า สารสกัดที่อยู่ในตังกุย มีคุณสมบัติในการต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จึงทำให้สามารถบรรเทา อาการปวดประจำเดือน และอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวได้ รวมทั้งสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ และสม่ำเสมอ นอกจากนี้วิตามินบี 1 บี 6 บี 12 กรดโฟลิก และไบโอติน ที่มีอยู่ในตังกุยยังเป็นสารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเลือด บำรุงเลือด และฟอกเลือด สำหรับสตรีอีกด้วย ดังนั้น การรับประทานตังกุยเป็นอาหารบำรุง ในช่วงนี้ จึงนับว่า มีความเหมาะสมยิ่ง นอกจากนั้นแล้ว การเลือกรับประทานอาหาร ที่ให้พลังงานสูง จำพวกแป้ง ไขมัน น้ำตาล และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ๆ เช่น ตับ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา หอย ถั่วเมล็ดแห้ง ก็จะช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง จากการที่ร่างกายต้องสูญเสียเลือดไป ในขณะมีประจำเดือนด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวที่กล่าวมาแล้ว ยังควรคำนึงถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ บางประการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นในระหว่างที่มีรอบเดือน นั่นคือ ควรพิถีพิถัน กับการทำความสะอาดร่างกายให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณ "จุดซ่อนเร้น"ขณะเดียวกันก็ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในขณะที่มี ประจำเดือน คือ ไม่ใส่เสื้อผ้าที่หลวมหรือคับจนเกินไป เลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่ งดดื่มน้ำเย็นจัด ๆ ไม่ปล่อยความคิดให้ฟุ้งซ่าน หรือหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องเลวร้าย รวมไปถึงไม่ควรทุ่มตัวหักโหมกับงานจนเกินไป พยายามทำใจให้สบาย ทำอารมณ์ให้สดชื่น แจ่มใสอยู่ตลอดเวลา

เพียงคุณปฏิบัติตัวให้พร้อมอยู่เสมอดังที่กล่าวมา ปัญหาการปวดรอบเดือน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้คุณหงุดหงิด ว้าวุ่นใจอีกต่อไป

เทคนิคการควบคุมประจำเดือน

รอบเดือนหรือประจำเดือน จะถูกควบคุมด้วยการเปลี่ยนแปลง ของระดับฮอร์โมนซึ่งเป็นสารเคมีที่ไหลเวียน อยู่ในกระแสเลือด ต่อมที่อยู่บริเวณฐานสมอง จะเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการ เจริญและการตกไข่ของไข่ที่สุกแล้ว โดยทั่วไป จะมีไข่เพียงใบเดียวเท่านั้นที่โตใหญ่ขึ้นมามีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 18-20 มิลลิเมตร จากนั้นต่อมใต้สมอง ก็จะหลั่งฮอร์โมนอีกชนิดออกมาทำให้ไข่ใบโตนี้แตกออกเกิด การตกไข่ขึ้น

รังไข่ของคุณเป็นแหล่งที่เก็บของไข่เหล่านี้ซึ่งจะอยู่ในถุงไข่ (follicle) อีกชั้นหนึ่ง โดยถุงไข่จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน estrogen ในระยะก่อนตกไข่ และสร้างฮอร์โมน progesterone ในระยะหลังตกไข่แล้ว ฮอร์โมนเหล่านี้จะควบคุมการเจริญ และการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูกอีกทีหนึ่ง

ระยะเวลาหลังจากไข่ตกจนเริ่มมีประจำเดือนนี้จะค่อนข้างคงที่ประมาณ 14 วัน ดังนั้นรอบเดือน จะยาว หรือสั้นจึงขึ้นกับระยะเวลาที่ไข่เจริญเติบโตมากกว่า ถ้าใช้เวลาเพียง 10 วัน รอบเดือนจะแค่ 24 วันเท่านั้นแต่ถ้าใช้เวลา 14 วัน รอบเดือนจะเท่ากับ 28 วัน การนับรอบเดือนนี้ ทางการแพทย์นับจากวันแรกที่เริ่มมีประจำเดือนถึงวันแรกของ การมีประจำเดือนรอบถัดไป ขอแนะนำว่าควรจดวันแรกของการมีประจำเดือนไว้ทุกครั้ง เพราะมีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยคะเนวันตกไข่ได้ เลือกมีเพศสัมพันธ์ให้ถูกจังหวะหากอยากมีบุตร และเมื่อตั้งครรภ์ก็จะสามารถคำนวณอายุครรภ์ได้ถูกต้อง หรือไม่ต้องการมีบุตรก็คุมกำเนิด โดยวิธีนับวันได้ถูกต้อง

ประจำเดือนของผู้หญิงนั้น เกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นวงจรในแต่ละรอบเดือน รังไข่ข้างใดข้างหนึ่งของผู้หญิงจะเกิดการตกไข่ขึ้น ไข่ที่โตเต็มที่จะตกจากรังไข่เข้าไปรอคอยพระเอก หรือตัวอสุจิอยู่ในส่วนปลายของท่อนำไข่ ซึ่งเปรียบกับสะพานเชื่อมรัก ขณะเดียวกัน เปลือกไข่ที่เหลืออยู่ ก็จะทำการสร้างฮอร์โมนเพศที่เรียกว่า โปรเจสเตอโรน มาทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนานุ่ม มีเลือดมาเลี้ยงมาก เพื่อเตรียมตัวรับกับไข่ที่ถูกปฏิสนธิจากตัวอสุจิ ถ้ามีการปฏิสนธิเกิดขึ้นจริง ตัวอ่อนก็จะเดินทางกลับเข้ามา ฝังตัวในโพรงมดลูก ในเยื่อบุโพรงมดลูกที่เตรียมเอาไว้ และทำการสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า HCG ไปบำรุงเปลือกไข่ให้ผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มากระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้เจริญต่อไป เพื่อเป็นแหล่งส่งอาหารต่อให้ทารกในครรภ์

ในกรณีนี้ก็จะไม่มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ออกไปเป็นประจำเดือน ประจำเดือนที่เคยมาเป็นประจำ สม่ำเสมอ ก็จะขาดหายไป ไปตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือด หาระดับของฮอร์โมน HCG ก็จะได้ผลบวก คุณก็ตั้งครรภ์

แต่ถ้าไม่เกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิขึ้น ไข่ใบน้อยที่รอรักอยู่ที่สะพานเชื่อมรัก ก็จะฝ่อไปภายใน 48 ชั่วโมง ไม่มีการสร้างฮอร์โมนไปประคับประคองเปลือกไข่ไว้ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะมาบำรุงเยื่อบุโพรงมดลูกก็ไม่มี เยื่อบุโพรงมดลูกก็จึงหลุดลอกตัว ออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

พูดง่ายๆ ก็คือ นางเอกรอรักอยู่ที่สะพานเชื่อมรัก รอแล้วรอเล่า พระเอกไม่ยอมขี่ม้าขาวมาพบสักที นางเอกย่อมเสียใจเป็นธรรมดา จึงร้องไห้ออกมาเป็นสายเลือด.. สายเลือดประจำเดือน เลือดประจำเดือน จึงไม่ใช่เลือดเสียแต่อย่างใด... แต่เป็นเลือดที่เกิดจากการลอกตัว ของเยื่อบุโพรงมดลูกตามปกติ

ผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 49.5 ปี ถ้าหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี ถือว่าผิดปกติ มักเกิดจากการทำงานของรังไข่ล้มเหลวก่อนวัยอันควร ซึ่งแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุร่วมด้วย


ยาเลื่อนประจำเดือน

การใช้ยาเลื่อนประจำเดือน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยา ลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า ยาเลื่อนประจำเดือน ถ้ามีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนอย่างเดียว เรียกว่า แบบเดี่ยว แต่ถ้าเป็น แบบผสม จะมีทั้งโปรเจสโตเจนและเอสโตเจนรวมกันซึ่ง แบบผสม อาจมีผลข้างเคียงมากกว่า โดยทั่วไปที่ใช้กันอยู่จึงเป็นชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนตัวเดียว

วิธีการใช้คือจะต้องกินยาล่วงหน้าอย่างน้อย 4-5 วัน หรือ 1 สัปดาห์ เพราะถ้าไปกินในช่วงวันใกล้มีประจำเดือนอาจจะไม่ได้ผล กินยาวันละ 2 เม็ด ตอนเช้าและตอนเย็น ติดต่อกันในขนาดที่กำหนด แต่ไม่ควรเกิน 10-14 วัน เพราะการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอย และรอบเดือนมาผิดปกติได้ เมื่อหยุดยาแล้ว ประจำเดือนจะไม่มาทันที อีกประมาณ 2-3 วันต่อจากนั้น ประจำเดือนจึงจะมาตามปกติ

สำหรับผลข้างเคียงที่อาจ เกิดขึ้นจากการกินยาเลื่อนประจำเดือน เช่น บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นบางเวลา หรือ อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย ส่วนผลข้างเคียงอย่างอื่นก็ไม่มีอะไรน่ากลัว ถือว่ามีความปลอดภัย

Credit : http://beauty.vwander.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น